วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แนวทางการศึกษา

แนวทางการศึกษาในหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม
ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียน (สำหรับนักศึกษา)



โดย ดร.ศักดิ์ ประสานดี


                  ขั้นตอนที่ 1 ให้ผู้สมัครเป็นนักศึกษาทุกคนได้กำหนดเป้าหมายของการเรียนก่อน อาจจะตั้งแต่การส่งใบสมัครเข้ามาเรียนด้วยซ้ำ เหมือนนักศึกษาปริญญาโท และปริญญาเอก คือการเลือกผู้เข้าเรียนจากใบสมัคร การกำหนดเป้าหมายนี้ให้นักศึกษาตอบคำถามว่า
1)      หัวข้อที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการสังคม เหตุผลที่สนใจ
2)      กำหนดพื้นที่ปฏิบัติการ  
3)      กำหนดเป้าหมายของความสำเร็จ
ขั้นตอนที่ 2  การศึกษาชุมชน และการประกอบการทางสังคม  เป็นการเริ่มต้นการศึกษาในปีที่ 1 (ภาคเรียนที่ 1, 2 และภาคฤดูร้อน)

เทอม 1   

1)      ประวัติศาสตร์ของชุมชน, และข้อมูลสำคัญของชุมชน ปัญหาชุมชนพื้นที่ปฏิบัติการกับการพัฒนาที่ผ่านมา
2)      เครือข่ายชุมชนและการจัดการ
3)      วัฒนธรรมชุมชนและทุนทางสังคม                            
4)      กองทุนและสวัสดิการชุมชน
5)      การจัดทำแผนที่ชุมชนเพื่อการพัฒนา

เทอม 2
6)      เศรษฐกิจชุมชน 
7)      วิสาหกิจชุมชน
8)      สังคมชนบทและสังคมเมือง
9)      พุทธเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจพอเพียง
10)  ข้อมูลทางสถิติและสารสนเทศชุมชน

เทอม 3
11)  แนวคิดผู้ประกอบการสังคม                                   
12)  การพัฒนาทักษะผู้ประกอบการสังคม
13)  สหกรณ์กับการพัฒนา                                
14)  กรณีศึกษาการเป็นผู้ประกอบการสังคมในชุมชน           
15)  นวัตกรรมการประกอบการสังคม

หมายเหตุ ก่อนจะเข้าสู่การเรียนสัปดาห์แรก จะให้นักศึกษาทุกคนเข้าค่าย “มงคลชีวิต” เสียก่อน (ซึ่งเป็นรายวิชาหนึ่งของหลักสูตร) เพื่อปรับทัศนคติร่วมกัน และสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของนักศึกษา)

                 ขั้นตอนที่ 3 การปฏิบัติการเป็นผู้ประกอบการสังคม  ขั้นที่ 3 นี้น่าจะอยู่ในปีการศึกษาที่ 2, 3 โดยอาจจะมีแนวทางดังนี้
3.1        การวางแผนการพัฒนาเป็นผู้ประกอบการสังคม น่าจะอยู่ที่ปีการศึกษาที่ 2 ภาคเรียนที่ 1  (ตัวอย่าง)
1)      ธรรมชาติศึกษา การเปลี่ยนแปลงและการธำรงรักษา        
2)      สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และวิกฤติโลก
3)      สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครองไทย     
4)      วิถีสุขภาวะแบบองค์รวม  
5)      กระบวนทัศน์การพัฒนา  
6)      นโยบายสาธารณะ

หมายเหตุ ก่อนเข้าเรียนในปีการศึกษาที่ 2 นักศึกษาจะเข้าค่าย “จิตปัญญาสิกขา” ซึ่งเป็นรายวิชาหนึ่งของหลักสูตร

3.2  การดำเนินการพัฒนาเป็นผู้ประกอบการสังคม  น่าจะอยู่ที่ปีการศึกษาที่ 2 ภาคเรียนที่ 2, และ ปีการศึกษาที่ 3 ดังนี้

ปีการศึกษาที่ 2 ภาคเรียนที่ 2, มีรายวิชาดังนี้  (ตัวอย่าง)
1)      ฝึกปฏิบัติการเป็นผู้ประกอบการ 1
2)      การจัดทำแผนแม่บทชุมชน
3)      การจัดทำโครงการและบริหารโครงการ    
4)      ภาวะผู้นำชุมชนและการพัฒนาทีมงาน
5)      กระบวนการมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อการพัฒนา
6)      วิทยากรกระบวนการ                                  


ปีการศึกษาที่ 3 การฝึกปฏิบัติการและการเรียนรู้เพิ่มเติมตามรายวิชาทั่วไปตามมาตรฐานของ สกอ.
     ภาคการศึกษาที่ 1  (ตัวอย่าง)
1.      ฝึกปฏิบัติการเป็นผู้ประกอบการ 2
2.      การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง
3.      การผลิตสื่อชุมชน
4.      การจัดการความขัดแย้ง
5.      หลักบัญชีเบื้องต้น
6.      ทักษะการฟัง การอ่านเอาเรื่อง การพูดและการเขียนภาษาไทย

     ภาคการศึกษาที่ 2  (ตัวอย่าง)
1.      ฝึกปฏิบัติการเป็นผู้ประกอบการ 3
2.      ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย           
3.      หลักการปกครองท้องถิ่น
4.      รัฐธรรมนูญ สถาบันการเมือง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชุมชน
5.      คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน 

ขั้นตอนที่ 4 การสรุปและการถอดความรู้การเป็นผู้ประกอบการสังคม ขั้นตอนนี้น่าจะอยู่ที่ปีการศึกษาที่ 4  โดยภาคการศึกษาที่ 1 จะเป็นการสรุปและการถอดความรู้ ภาคการศึกษาที่ 2 เป็นการเรียบเรียงและจัดทำเป็นเอกสารและการนำเสนอต่อคณะกรรมการหลักสูตรและสาธารณะ รวมถึงการศึกษาตามรายวิชาอื่นๆ ที่เป็นการศึกษาทั่วไปตามมาตรฐานของ สกอ.

รายวิชาที่ต้องศึกษาในปีการศึกษาที่ 4   (ตัวอย่าง)
1.      ความรู้พื้นฐานทางปรัชญา
2.      ทักษะการสื่อสารสำหรับผู้นำในวิชาชีพ               
3.      การใช้ภาษาอังกฤษ 1                                  
4.      การใช้ภาษาอังกฤษ 2
5.      สัมมนาประเด็นผู้ประกอบการสังคม

        ผมคิดว่าการจัดการเรียนใหม่ ที่จะเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง มุ่งให้เกิดผลลัพธ์อย่างจริงจัง และเป็นการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ น่าจะเป็นแนวทางที่เราสามารถจะสร้างผู้ประกอบการสังคมได้จริง หากจะมีคนถามว่าการเรียนรู้นี้ ต่างจากนักศึกษาปริญญาโท และปริญญาเอกตรงไหน เราคงบอกได้ว่า ต่างกันตรงที่ การศึกษาในระดับปริญญาตรีนี้ ไม่มีการตั้งสมมติฐาน ไม่มีการทดสอบสมมติฐานเหมือนการศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2555

มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น (มภช.)

มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น (มภช.)
มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้จัดตั้ง มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหน่วยงานจัดการศึกษาสำหรับผู้นำชุมชนและอาสาสมัครทางสังคม โดยการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีเจตนารมณ์เช่นเดียวกันนี้
 มหาวิชชาลัย เป็นคำที่มาจากพระชาดก พระมหาชนก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ได้ทรงแปลจากภาษาบาลี พระองค์ทรงใช้คำว่า ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ซึ่งในพระชาดกดังกล่าว พระมหาชนกทรงได้รับคำแนะนำให้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การศึกษาด้านสัมมาชีพแก่ประชาชน
มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการสังคมอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ โดยการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เล็ก ๆ ในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ในรูปแบบของ วิชชาลัยเพื่อให้ผู้นำชุมชนและอาสาสมัครทางสังคม ได้เข้ารับการศึกษาอย่างทั่วถึง และไม่ต้องเดินทางไปยัง ส่วนกลางอีกทั้งเพื่อให้การศึกษา เป็นการศึกษาเพื่อชุมชนท้องถิ่น และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมหาวิชชาลัย ได้ริเริ่มโครงการโดยไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร มหาวิชชาลัยไม่มีงบประมาณและกองทุนใดๆให้การสนับสนุน  แต่มหาวิชชาลัยมีความเชื่อมั่นว่า ทุนทางสังคมของสังคมไทย ที่ได้รับการสั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน และขบวนการทางการพัฒนาสังคมที่ก่อรูปขึ้นโดยองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ, โดยโครงการ LDAP, กองทุน SIF, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัทเอกชน และองค์กรภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นับเป็นทุนทางสังคมที่มีพลัง สามารถที่จะเชื่อมพลังของทุนทางสังคมเหล่านี้ มาสู่การสร้างสรรค์และพัฒนาภูมิปัญญาให้เกิดกับผู้นำชุมชนและอาสาสมัครทางสังคม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนฐานราก โดยพื้นฐานความเชื่อว่า ความเข้มแข็งที่แท้และยั่งยืนนั้น ต้องเป็นความเข้มแข็งทางภูมิปัญญา เพราะคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และการพัฒนาคนนั้น ก็คือการยกระดับทางภูมิปัญญานั้นเอง
จากหลักคิดดังกล่าวข้างต้น มหาวิชชาลัย จึงได้นำเสนอ การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยการใช้ทุนทางสังคม คือการรวมตัวกันของกลุ่มผู้มิจิตอาสา ทั้งผู้เรียน ผู้สอน และผู้สนับสนุน ในรูปแบบของการเป็น วิชชาลัย
มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น มิได้เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา จึงไม่สามารถจะเปิดทำการเรียนการสอนในระดับปริญญาหรือระดับอุดมศึกษา ตามรูปแบบของกระทรวงศึกษาธิการ แต่มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น เป็นองค์กรหนึ่งภายใต้โครงสร้างของมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โดยเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาผู้นำชุมชนและอาสาสมัครทางสังคม ให้มีศักยภาพในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง เพื่อนำไปสู่ความเป็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น ได้เปิดการฝึกอบรมผู้นำชุมชนและอาสาสมัครทางสังคม ในหลักสูตร ผู้ประกอบการสังคม (Social Entrepreneur) ซึ่งหลักสูตรนี้ เป็นหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่กำลังจะเปิดทำการเรียนการสอนของสถาบันอาศรมศิลป์ อย่างเป็นทางการในปีการศึกษาแรกของปีพุทธศักราช 2555 ซึ่งปัจจุบัน (เดือนธันวาคม 2554) หลักสูตรนี้ อยู่ระหว่างการเสนอขอการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยสภาสถาบันได้อนุมัติหลักสูตรแล้ว เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554
เมื่อสภาสถาบันอนุมัติหลักสูตรแล้ว สถาบันก็จะสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ และอนุมัติปริญญาได้ เพียงแต่ต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานการอุดมศึกษา(สกอ.)แล้ว จึงจะส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ตีค่าเงินเดือน สำหรับผู้ที่ประสงค์จะใช้วุฒิการศึกษาเพื่อการไปสมัครงานในภาคราชการ
มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานฝึกอบรมผู้นำชุมชนและอาสาสมัครทางสังคม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ที่สนใจจะสมัครเข้าเป็นนักศึกษา ตามหลักสูตรผู้ประกอบการสังคมของสถาบันสถาบันอาศรมศิลป์ โดยที่ผู้เข้าอบรมที่ประสงค์จะรับปริญญาบัตรในอนาคต จะต้องสมัครเข้าเป็นนักศึกษาของสถาบันอาศรมศิลป์ และเทียบโอนรายวิชาที่เรียนผ่านแล้วกับสถาบันต่อไป
การดำเนินการจัดการเรียนรู้ของมหาวิชชาลัย เป็นความประสงค์ที่จะให้เป็น ทางเลือกของการจัดการศึกษา ที่จะให้พ้นจากกรอบของกระทรวงศึกษาธิการ และทั้งยังจะเป็นการนำร่องของการปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ซึ่งกำลังจะเข้าไปสู่การเป็นชุมชนไร้พรมแดน ในการเปิดเสรีของประเทศในกลุ่มอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 นี้

เจตนารมณ์ของมหาวิชชาลัย
มุ่งการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้นำชุมชน และอาสาสมัครทางสังคม ที่เป็นรากฐานของชุมชนทั้งประเทศ โดยเชื่อว่าชุมชนจะเข้มแข็ง และจัดการตนเองได้นั้น  ต้องมาจากผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง และความเข้มแข็งของผู้นำ ต้องมาจากความเข้มแข็งทางปัญญา กล่าวได้ว่ามุ่งให้ผู้สำเร็จการศึกษา มีรายได้จากสัมมาชีพที่เกื้อกูลสังคม และมีจิตอาสา